เด็กจบใหม่กับการย้ายงานครั้งแรก
คิดอยู่นานว่าจะเขียนออกมาดีไหม…
ที่คิดอยู่นานเพราะหลังจากได้งานก็ติดเกมหนักมากบวกกับคิดว่าบทความแนวนี้น่าจะไม่ค่อยมีใครอ่าน แต่ที่ตัดสินใจเขียนขึ้นมาเพราะถ้าตัวเองในอนาคตได้กลับมาอ่านคงตลกดี บ่นจบละ มาเริ่มกันเลย…
อย่างแรกที่ต้องคิดเลยคือเรื่อง
เหตุผลที่จะย้าย
คนเราจะทำอะไรมันต้องมีเหตุและผลแน่ๆ เช่น หมดไฟ อยากพัก เงินเดือนน้อย งานเยอะ เรียนต่อ อะไรก็แล้วแต่ผมมองว่าไม่มีผิดมีถูกนะ การให้ความสำคัญของเหตุผลที่อยากย้ายของแต่ละคนมันไม่เท่ากันอยู่แล้ว
แต่ถ้าถามว่าผมออกจากที่ทำงานเก่าทำไม “หลายๆคนก็บอกงานธนาคารดีนะ” “โบนัสก็เยอะ” “ใครๆก็อยากมาทำน่าเสียดายออก” ผมขอบอกตรงๆเลยว่าผมลาออกด้วยเหตุผลที่อาจจะดู What the f… สำหรับผู้อ่านมากๆ เหตุผลของผมคือผมอยากพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นด้วย Flutter อยากเห็น Business model ของแต่ละบริษัทและเหตุผลอื่นๆอีกนิดหน่อยแค่นั้นเลยครับ
ผมอยากให้ผู้อ่านที่กำลังคิดจะย้ายงานแต่ยังหาเหตุผลที่จะออกแบบจริงจังไม่ได้
ผมขอแนะนำว่าอยากพึงออกเลยครับ หาให้เหตุผลจริงจังที่แบบว่าบริษัทที่จะไปต้องมีเรื่องนี้แน่ๆก่อนแล้วค่อยไปหาบริษัทใหม่ยังไม่สายนะครับ แต่สุดท้ายก็แล้วแต่ผู้อ่านเลยครับ นี่เป็นเพียงแค่คำแนะนำเฉยๆ
พอดีช่วงที่ผมอยากย้ายงานก็ไปเจอเกมทางเลือกหัวข้อ “ลาออกดีมั้ยน้า” แบบขำๆเลยนำมาให้ผู้อ่านลองเล่นขำๆกันครับ (เครดิตตามรูปเลยครับ)
เตรียมตัวก่อนหางานที่ใช่เรา
ขั้นตอนนี้สำหรับคนธรรดาๆแบบผมนะครับ (หากผู้อ่านมีความเทพติดตัวมาตั้งแต่แรกแล้วก็ข้ามได้เลย) ก่อนไปสัมภาษณ์อยากให้เตรียมโปรไฟล์ของเราให้ตรงกับเหตุผลที่จะลาออกแบบจริงจังก่อนของผมคือเรื่อง Flutter
- ผมก็ไปซื้อคอร์สสอน flutter มาฝึกหัดเอง
- เขียนบทความเพื่อเพิ่มทักษะการอธิบาย
- หาจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง (บริษัทต่างๆชอบถาม) ผมมองว่าดีนะถ้าเรารู้ว่าเราอ่อนหรือเก่งอะไร
เอาแบบว่าบริษัทใหม่รับเราไปแล้วพอจะทำงานได้เลย ลองคิดในมุมเจ้าของบริษัทเขาคงไม่อยากจ้างคนที่เข้ามาแล้วต้องมาสอนคุณหรอกจริงไหมครับ
ตัวอย่างข้อ 1 , 2
ตัวอย่างข้อ 3
สัมภาษณ์งาน
ขั้นตอนนี้ก็แล้วแต่สายงานที่ผู้อ่านสนใจเลยครับ หลังจากเตรียมตัวแล้วจากหัวข้อก่อนหน้าแล้วก็เริ่มหางานที่รับนักพัฒนา Flutter เดินทางด้วยรถไฟฟ้าได้เพื่อความสะดวก บลาๆ เมื่อแผนกทรัพยากรมนุษย์หรือ HR ของบริษัทนั้นๆ สนใจโปรไฟล์เราแล้วก็จะทำการนัดเราไปสัมภาษณ์งาน โดยปกติเราก็ต้องลางานไปสอบสัมภาษณ์งาน แต่ช่วงผมดีหน่อยไม่ต้องลางานเพราะอยู่ในช่วงโควิด 19 ส่วนใหญ่จะนัดสัมภาษณ์แบบออนไลน์ซะมากกว่า
มุมความคิดส่วนตัวของผมนะครับ
- อย่าไปกลัวการโดนปฏิเสธครับ เขาไม่รับเราด้วยเหตุผลใดๆก็แล้วแต่ผมมองว่าเป็นข้อดีนะ ให้ลองนึกถึงถ้าเขารับเราเพราะสงสารหรืออะไรก็แล้วแต่นั้นแปลว่าเราต้องลาออกจากที่เก่าเพื่อไปที่ใหม่ใช่ไหมครับ เราก็จะอยู่ในช่วงทดลองงานแต่เราดันไม่มีทักษะมากพอ HR ก็จะไม่จ้างเราต่อเราก็จะตกงาน นั่งเตะฝุ่นอยู่บ้านจะลำบากคนอื่นเปล่าๆ จากที่ผมคิดนะ
- ถ้าเขาไม่รับเราเข้าทำงานอย่าเสียใจไปเลย แต่อยากให้ผู้อ่านลองย้อนมองว่าทำไมเขาถึงไม่รับมากกว่า เช่น ผมเป็นคนอธิบายสิ่งที่รู้ได้ไม่ดี เวลาตื่นเต้นจะพูดติดอ่าง ทักษะยังไม่ตรงตามที่เขาต้องการ ผมก็หาที่ใหม่ครับง่ายๆเลยแต่ก่อนที่จะหาที่ใหม่ผมจะพยายามแก้ไขสิ่งที่ผมทำผิดพลาดไปในครั้งก่อนให้การสัมภาษณ์ครั้งหน้าจะได้ผ่านฉลุยครับ
ก่อนจะได้ที่ใหม่ผมโดนปฏิเสธมาหลายรูปแบบ
- เงียบไปเลย — ถ้า 1 สัปดาห์หลังจากสัมภาษณ์แล้วเขาไม่มีการติดต่อก็สรุปว่าเขาไม่รับ 80% นะครับ ปล.แล้วแต่บริษัท
- โทรมาบอก
เรื่องพีค!! และ บทเรียนในชีวิตผม
ปล.เรื่องที่กำลังจะเล่านี้ไม่ได้จะตำนิหรือกล่าวโทษอะไรนะครับ มันเป็นเรื่องที่บริษัทสามารถทำได้แต่มีผลต่อความรู้สึกผู้สมัครนิดหน่อย… อยากเล่าประสบการณ์ของผมที่เจอมาเฉยๆ แต่อยากบอกว่าขอบคุณที่ตัดสิทธิ์ผมนะครับ หลังจากบริษัทนี้ผมก็ได้ที่ทำงานใหม่ที่ตรงสเปก 100% เลยครับ
ก่อนที่ผมจะได้งานที่ทำปัจจุบัน ผมได้รับข้อเสนอเข้าทำงานจากบริษัทแห่งหนึ่ง แต่หลังจากที่ผมได้ฟังแล้วก็มาเช็คลิสต์เรื่องที่ผมจริงจังว่าต้องมีที่บริษัทใหม่ก่อนจะตกลงเข้าทำงานแต่พอดีขาดไป 1 เรื่อง แต่ด้วยความที่สัมภาษณ์ไปหลายที่แล้วจึงเกิดการเหนื่อยล้าอยากลดเรื่องจริงจังออก จึงขอเวลากับ HR ว่าขอคิด 1 สัปดาห์ก่อนแล้วจะมาบอก ทาง HR ก็ตกลงให้เวลาผม ช่วงที่คิดก็มีสอบถามเรื่องต่างๆกับทาง HR เช่น อนาคตของบริษัท , สวัสดิการบริษัท , การขยายแผนก (จะรับพนักงานทำ Flutter อีก 2–3 คน) ปล.ที่ต้องถามถึงอนาคตเพราะเป็นบริษัท startup จึงสอบถามเพื่อความมั่นใจว่าอนาคต 4–5 เดือนจะไปรอดไหม สุดท้ายผมก็ตัดสินใจว่าจะไปทำงานทาง hr ก็บอกว่าไม่รับผมเพราะรับคนอื่นไปแล้วผมก็ งง เมื่อวานพึงคุยเรื่องรับคนเพิ่มอยู่เลยแล้วทำไมถึงโดนตัดสิทธิ์ออกเพราะผมถามเยอะไปหรอ?
อันนี้ผมก็ไม่ทราบจนทุกวันนี้…
แต่บริษัทสามารถทำได้นะเพราะเรายังไม่ได้เซ็นสัญญาอะไรและบริษัทก็ต้องการคนมาช่วยทำงานให้เร็วที่สุด
บทเรียนที่ได้รับนี้ทำให้ผมคิดได้ว่า “ควรเซ็นสัญญาก่อนแล้วค่อยบอกหัวหน้าเก่า” จริงๆมีหลายบทความสอนเรื่องนี้แล้วนะครับแต่ผมไม่อ่านเอง
ปล.เรื่อง “เซ็นก่อนบอก” หรือ “บอกก่อนเซ็น” แล้วแต่ความสนิทกับหัวหน้าเลยนะครับ โดยปกติทุกบริษัทจะมีเงื่อนไขว่าหลังเซ็นใบลาออกจะต้องอยู่ครบ 1 เดือนถึงจะย้ายได้นะครับ เพราะที่เก่าจะต้องหาคนมาแทนเรา ใจเขาใจเราครับ ตอนออกควรจะไม่กระทบกับที่ทำงานเก่ามากด้วยนะครับ
ลองนึกดูว่าถ้าผมบอกกับหัวหน้าว่าได้ที่ใหม่แล้วจะขอลาออกหลังจากนั้นไปคุยกับบริษัทใหม่ที่หลังนี่แล้ว HR บอกว่าไม่รับผมน่ะ บอกเลยผมจะตกงานฟรี ร้องให้ใครช่วยก็ไม่ได้แล้วนะครับ
เตรียมตัวย้ายงาน
แนะนำว่าให้เลือกวันเริ่มงานเป็นวันที่ 1 เท่านั้นนะครับเพราะการจ่ายเงินเดือนของละที่จะเป็นการจ่ายล่วงหน้าอย่างที่เก่าของผมจะจ่ายทุกวันที่ 25 ผมออก 19
แปลว่า (เงินเดือน / จำนวนวันของเดือนนั้น ) * 19 วันทำงาน = เงินเดือนที่ได้
ควรใส่วันสุดท้ายที่จะออกถึงแม้จะเป็นวันหยุด เช่น ผมเริ่มงาน 22 วันลาออกที่เก่าควรใส่จะเป็นวันที่ 21 นะครับ ผมพึงรู้เหมือนกันนั้นแปลว่าผมตกงาน 2 วันนั้นเอง
และสุดท้ายอย่าลืมสอบถามเรื่อง 50 ทวิมาก่อนออกนะครับ
หลังจากย้ายงาน
ผมเชื่อว่ามีหลายคนเป็นกังวลว่าที่ ใหม่จะดีกว่าที่เก่าไหมนะ เราจะโดนการเมืองในแผนกไหม บลาๆ.. จากที่ผมคิดนะครับ ไม่มีที่ทำงานไหนถูกใจเรา 100% แน่นอนครับ ถ้าเจอก็ยินดีด้วยครับ ผมจึงแนะนำว่าต้องมีเรื่องที่อยากให้บริษัทนั้นมีแน่ๆสักเรื่องที่เราต้องการอย่างของผมคือ Flutter และเรื่องการเมืองในที่ทำงานนี้ผมวัดดวงเลย ผมค่อนข้างมั่นใจว่าตัวเองเข้าได้กับทุกคนเลยไม่ได้เป็นกังวลเรื่องนี้เท่าไรครับ
แต่ถ้าจะถามว่าที่ใหม่ดีกว่าที่เก่าไหมตอบว่าดีเท่าๆกันครับ เพราะทุกบริษัทมีวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกัน ข้อดีข้อเสียจึงขึ้นอยู่กับนิสัยเราเลยครับว่าถูกใจไหม
จบแล้วครับ บทความนี้อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรผู้อ่านมากเท่าไรแต่ขอให้ผู้อ่านที่กำลังย้ายงานเจอบริษัทที่ใช่ของตัวเองนะ และขอบคุณที่เข้ามาอ่านจนจบนะครับ
ขอบคุณทีมเก่า
ขอพื้นที่ตรงนี้ขอบคุณพี่ๆที่ทำงานทุกคนที่ค่อยสอนงานและทำให้ทุกๆวันที่ทำงานไม่เหมือนที่ทำงานนะครับ ขอบคุณที่มาเลี้ยงส่งผมครับ ยินดีที่ได้ร่วมงานกันนะครับ